ศูนย์แรก "บ้านผารังหมี"



"ผู้สร้างขยะต้องร่วมเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการขยะ”




   
ธนาคารขยะบ้านผารังหมี
                ข้อมูลทั่วไป : บ้านผารังหมีเป็นหมู่บ้านหนึ่งใน 17 หมู่บ้านของตำบลไทรย้อย มีครัวเรือนตามข้อมูล จปฐ. จำนวน 119 ครัวเรือน เป็นหมู่บ้านที่มีความร่วมมือร่วมใจกันค่อนข้างสูง รวมถึงในหมู่บ้านมีผู้นำที่มีความรู้ความสามารถหลายท่าน  และเป็นชุมชนที่มีความหนาแน่น มีบ้านปลูกอยู่ติดๆกัน ทำให้การกำจัดขยะในครัวเรือนกันเอง เช่น การเผา การฝังกลบ ไม่สามารถทำได้ จึงเป็นหมู่บ้านที่เหมาะสมที่จะเริ่มโครงการจัดการขยะโดยชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2549 โรงเรียนบ้านผารังหมีได้มีการจัดการขยะในโรงเรียน โดยวิธีการระดมหุ้นจาก นักเรียน ครู และผู้ปกครอง หุ้นละ 5 บาท    คนหนึ่งไม่เกิน 4 หุ้น นำมาซื้อขยะจากนักเรียน โดยการจัดการแบบซื้อมาขายไป กำไรปันผลให้ทุก 2 เดือน ผลที่เกิดขึ้น คือ ปริมาณขยะในชุมชนลดลง แหล่งเพราะพันธุ์ยุงลดลง นักเรียนมีรายได้จากการขายขยะ ผู้ปกครองสามารถลดรายจ่าย โรงเรียนมีชื่อเสียง มีผู้คนมาศึกษาดูงาน        แต่ต่อมา ทางโรงเรียนบ้านผารังหมีได้มีการเปลี่ยนผู้บริหารของโรงเรียน จึงทำให้การดำเนินการของกลุ่มหยุดชะงักลงโดยไม่มีใครได้สานต่อ
           จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2552 เทศบาลไทรย้อย ได้เข้าร่วมโครงการสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อความอยู่ดีมีสุขโดยชุมชนและเครือข่าย โดยเทศบาลได้เสนอโครงการธนาคารขยะบ้านผารังหมี เพื่อขอรับงบประมาณ จำนวน 50,000 บาท จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประกอบกับจังหวัดพิษณุโลก โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ดร.ปรีชา เรืองจันทร์ และท่านประภาส คงแตง นายอำเภอเนินมะปราง ได้จัดทำโครงการพิษณุโลกเมืองใช้ประโยชน์จากขยะขึ้น เทศบาลไทรย้อยจึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมการคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลและทำปุ๋ยหมัก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 โดยได้รับความอนุเคราะห์จากวงษ์พานิชย์ ท่าน ดร.สมไทย วงษ์เจริญ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้และได้กรุณาเสนอแนะให้นำโครงการธนาคารขยะบ้านผารังหมีแห่งนี้จัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์รีไซเคิลแห่งแรกในตำบลไทรย้อย โดยมีการเปิดรับฝากขยะในวันที่ 15  และ 30 ของทุกเดือน และหลังจากธนาคารขยะบ้านผารังหมีสามารถดำเนินการได้แล้ว เทศบาลตำบลไทรย้อยจะขยายการดำเนินงานออกไปในโรงเรียนประถมศึกษาในเขตเทศบาลตำบลไทรย้อย อีก 6 แห่ง ซึ่งเทศบาลได้ตั้งงบประมาณสนับสนุนไว้แล้ว โรงเรียนละ 20,000 บาท และมีเป้าหมายลำดับถัดไปจะขยายการดำเนินงานในลักษณะเครือข่ายให้ครอบคลุม ทั้ง 17 หมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดการขยะ เพื่อถลดปริมาณขยะในชุมชน ลดค่าใช้จ่ายที่เทศบาลจะต้องนำไปจัดซื้อรถขยะ รวมถึงค่าบริหารจัดการต่างๆ ที่เกิดขึ้นรวมถึงสนับสนุนการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย 
                จากแนวนโยบาย ขยายมาสู่การปฏิบัติ ศูนย์รีไซเคิล ธนาคารขยะบ้านผารังหมีสามารถเกิดขึ้นได้ในวันนี้ เพราะความร่วมมือร่วมใจของชาวไทรย้อย ที่ถือเป็นต้นทุนทางสังคมที่เราชาวไทรย้อยภาคภูมิใจ รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นผลทำให้เราสามารถขยายเครือข่ายธนาคารขยะออกไปให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่  ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งในระยะยาวจะนำไปสู่การจัดการขยะโดยชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า อยู่อย่างพอดี บนวิถีคนไทรย้อย

ดังนั้น ท่านนายกเทศมนตรี จึงเสนอโครงการให้คนในท้องถิ่นของเราช่วยกันจัดการกับขยะที่ตนเองสร้างขึ้นมา โดนการปลูกฝัง สร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับคนในชุมชน และเยาวชน ภายใต้วิสัยทัศน์ของตำบลไทรย้อย คือ
“สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี ภาคีมีส่วนร่วม”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น