ความเป็นมา...

ข้อเสนอโครงการ กิจกรรมพัฒนางานหรือระบบการจัดการสุขภาวะชุมชน
ชื่อโครงการ
                ธนาคารขยะรีไซเคิล หมู่บ้านผารังหมี ตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
หลักการและเหตุผล
เทศบาลตำบลไทรย้อย ได้รับการยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลตำบล เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550 ข้อมูลทั่วไป เทศบาลไทรย้อย มีพื้นที่ประมาณ 95.70 ตารางกิโลเมตร มีหมู่บ้านรวม 17 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 8,487  คน (ข้อมูล ณ เมษายน 2552) พื้นที่เป็นที่ราบสลับเนินเตี้ย ประชากรส่วนใหญ่ทำการเกษตร เช่นทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ การปลูกสร้างบ้านเรือนกระจายอยู่ในพื้นที่ทำกินของตนเอง มีเพียงบางหมู่บ้านที่มีการตั้งบ้านเรือนอยู่ติดๆ กัน เป็นชุมชนใหญ่ เช่นบ้านผารังหมี บ้านไทรย้อย บ้านวังน้ำบ่อ บ้านโคก ดังนั้นการจัดการปัญหาขยะด้วยตนเอง ในพื้นทึ่ เช่นการฝังกลบ การเผา และวิธีอื่นๆ จึงยังไม่กระทบกับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนมากนัก แต่ทั้งนี้แนวโน้มการขยายตัวของชุมชนในอนาคตทำให้เทศบาลตำบลไทรย้อยต้องหาวิธีการที่เหมาะสมกับชุมชนของตนเองเพื่อรองรับปัญหาการจัดการขยะที่จะเกิดตามมาในอนาคต ประกอบกับผู้บริหารมีแนวคิดในขณะนี้ว่าเทศบาลตำบลไทรย้อยโดยสภาพพื้นที่ที่กว้างขวาง ชุมชนยังไม่แออัดมากนักประชาชนจะสามารถจัดการขยะกันเองได้ จึงยังไม่มีความจำเป็นในการจัดการขยะโดยวิธีจัดซื้อรถเก็บและขนขยะ ถังขยะ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับต้องจัดหาสถานที่ฝังกลบทำลาย ตลอดจนการจัดสร้างโรงงานกำจัดขยะในลำดับถัดไป ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นแนวคิดในการจัดการขยะโดยชุมชนมีส่วนร่วมจึงเกิดขึ้น
คำว่า ขยะ หากจะกล่าวถึงคำๆ นี้ ส่วนใหญ่ทุกคนคงคิดถึงของเสีย สิ่งปฏิกูล สิ่งที่เป็นปัญหาที่ควรนำไปกำจัดทิ้ง แต่ถึงจะกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ควรกำจัดทิ้งก็ใช่ว่าทุกคนที่สร้างขยะจะมีส่วนร่วมในการจัดการกับขยะที่แต่ละคนได้ก่อขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ต่างมองว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ในการเก็บรวบรวม ขนส่ง และนำไปกำจัด แต่ในความเป็นจริง การจัดการขยะควรจะเป็นหน้าที่ของทุกคนที่เป็นผู้ก่อขยะเหล่านี้ขึ้นมา ดังนั้นหากต้องการให้ปัญหาการจัดการขยะสามารถจัดการได้ง่ายขึ้นลดปริมาณขยะที่ตนเองเป็นคนสร้างก็ควรอาศัยความร่วมมือของพวกเราทุกคนในชุมชน
ธนาคารขยะรีไซเคิล คือ รูปแบบหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อลดปริมาณขยะ ส่งเสริมการคัดแยกขยะ โดยเริ่มต้นที่ชุมชนเป็นหลัก โดยเริ่มจากจัดให้มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจแนวคิด วิธีการดำเนินงาน การจัดฝึกอบรมให้ความรู้กับชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการคัดแยกขยะ รู้ว่าขยะประเภทใดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ประเภทใดสามารถนำไปแปรรูป ประเภทใดที่นำมาคัดแยกประเภทแล้วเกิดมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายการลดปริมาณขยะในชุมชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก และในการเริ่มต้นของโครงการเทศบาลตำบลไทรย้อย จึงได้เสนอบ้านผารังหมี หมู่ที่ 3  ตำบลไทรย้อย เพื่อดำเนินการจัดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิลขึ้น เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่ได้เข้าร่วมโครงการตำบลสุขภาวะ กับสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.) และได้รับงบประมาณสนับสนุน จำนวน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) เมื่อปลายปี 2552
วัตถุประสงค์
1.  เพื่อลดปริมาณขยะในพื้นที่ ส่งเสริมให้ชุมชนมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม
                        2. เพื่อส่งเสริมให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนในเรื่องการคัดแยกขยะที่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง ตลอดจนมีความรู้ถึงภัยที่เกิดจากภาวะโลกร้อน
3.   เพื่อเป็นการสร้างรูปแบบการจัดการขยะ โดยชุมชนมีส่วนร่วม
4.  เพื่อให้ชุมชนมีความสะอาดถูกสุขลักษณะ ลดแหล่งที่ก่อให้เกิดโรค เช่น โรคไข้เลือดออก
5. เพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือน
เป้าหมาย         
1. สามารถลดปริมาณขยะในพื้นที่ โดยการนำขยะมารีไซเคิล อย่างน้อย ร้อยละ 30 จาก ปริมาณการใช้ขยะต่อปี (ปริมาณการสร้างขยะต่อคนโดยเฉลี่ย วันละ 0.8 กิโลกรัม) ข้อมูลสำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ
2. สนับสนุนให้ครัวเรือนในพื้นที่ เข้าร่วมเป็นเครือข่ายสมาชิกธนาคารขยะรีไซเคิลอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของจำนวนครัวเรือนที่อยู่จริงในพื้นที่ ภายในระยะเวลา 3 ปี (2552 – 2554)
3. สนับสนุนให้นักเรียน ในโรงเรียน และเยาวชน ในพื้นที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายธนาคารขยะรีไซเคิล 4. เพื่อให้ชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจ มีความสามารถในการคัดแยกขยะ
5. เพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิด ผู้สร้างขยะต้องร่วมเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการขยะ
วิธีดำเนินการ
ด้านการบริหารจัดการ
1.  ประชุมประชาคมหมู่บ้านตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ ตามความเหมาะสม กำหนดรูปแบบการทำงาน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
2.  ประกาศรับสมัครสมาชิกจากครัวเรือนในหมู่บ้าน และผู้สนใจหมู่บ้านข้างเคียง กำหนดค่าหุ้นๆ ละ 20 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 5 หุ้น
3. ประกาศกำหนด วัน เวลา เปิด รับฝาก ของธนาคารขยะ ทุกวันที่ 15 และ 30 ของทุกเดือนจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่นสมุดประจำธนาคาร สมุดประจำตัวสมาชิก  ใบนำฝากขยะ ตัวอย่างประเภทการคัดแยกขยะสำหรับครัวเรือน
4.  เจ้าหน้าที่ธนาคารให้เลขที่สมาชิก ในสมุดคู่ฝาก และทะเบียนประจำวันของธนาคาร โดยธนาคารจะมอบสมุดคู่ฝากให้สมาชิก และสมาชิกสามารถขอตรวจสอบยอดกับทะเบียนประจำธนาคารได้ในวันที่ธนาคารเปิดทำการ
5.  เมื่อมีสมาชิกนำขยะมาฝาก ผู้ฝากเขียนใบนำฝากตามรายการที่ธนาคารประกาศไว้ ส่งมอบขยะให้เจ้าหน้าที่ธนาคารลงรายละเอียด ทำการคัดแยกประเภทขยะ ชั่งน้ำหนัก ลงบันทึกในสมุดทะเบียนประจำธนาคาร และสมุดคู่ฝาก
ด้านอาคารสถานที่
การจัดเตรียมสถานที่เก็บรวมรวบ ยึดหลักง่ายๆ มีสถานที่โดยสามารถเก็บรวบรวมขยะได้ ขยะบางอย่างต้องมีหลังคาป้องกันฝน และรถเข้าออกสะดวกในการขนย้ายเมื่อซื้อขาย จัดทำบ่อปุ๋ยหมัก มีการติดประกาศราคาของขยะที่รับซื้อ ณ ปัจจุบัน
ด้านประชาสัมพันธ์
- การเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือกัน และชุมชน โดยการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย ของชุมชน วิทยุชุมชน ผ่านแกนนำชุมชน อื่นๆ เพื่อให้ทุกคนทราบ เข้าใจ และมีส่วนร่วม

การขายขยะ
เมื่อมีการฝาก 4 ครั้งขึ้นไป หรือมีปริมาณขยะของธนาคารมากพอแล้ว คณะกรรมการจะติดต่อร้านวงษ์พานิชย์มารับซื้อ เมื่อขายขยะเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการลงบัญชี ดำเนินการจัดสรรเงินให้สมาชิกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ดังนี้
          ร้อยละ 80 คืนให้สมาชิก
          ร้อยละ 20 นำมาจัดสรรในรายละเอียดดังนี้ 70 % เป็นค่าตอบแทนคณะกรรมการ 10 % เป็นค่าวัสดุที่จำเป็นของธนาคาร อีก 20 % เป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกที่มีการฝากขยะสม่ำเสมอตามหลักเกณฑ์คณะกรรมการกำหนด
            วัสดุอุปกรณ์
                       1.  เครื่องชั่ง   ละเอียด 1- 7 กิโลกรัม เครื่องชั่งหยาบ 60 – 90 กิโลกรัม
         2.  สถานที่เก็บรวบรวมวัสดุรีไซเคิล แยกตามประเภท เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ และอโลหะ
         3.  สมุดคู่ฝากและเอกสารบัญชี
         4.  บอร์ดประชาสัมพันธ์ ราคาขยะ บอร์ดประชาสัมพันธ์การจัดการการเงิน
                       5. วัสดุที่เกี่ยวข้อง เช่น ถุงใส่ขยะขนาดใหญ่ เชือก วัสดุอื่นที่จำเป็น
                          6. ป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ
ระยะเวลาดำเนินงาน
                ปีงบประมาณ 2552 – 2554
งบประมาณ
             ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จำนวนเงิน  50,000  บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
สถานที่ดำเนินการ
              เริ่มดำเนินการ หมู่ที่ 3 บ้านผารังหมี  ตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
ผู้รับผิดชอบประสานงาน
1. นายสมเกียรติ  เกรียงไกรอนันต์                นายกเทศมนตรี                   หัวหน้าโครงการ
2. นายพิชัย         ไผ่พงษ์                                 รองนายกเทศมนตรี            รองหัวหน้าโครงการ
3. นางสุดใจ      ชมภูมี                                     รองนายกเทศมนตรี            กรรมการ
4. นายไพฑูรย์     พรรณนา                              ตัวแทนประชาชน               กรรมการ
5. นางสาวน้ำผึ้ง  ไวธัญญกิจ                           สมาชิกสภาเทศบาล            กรรมการ
6. นางดารณี         นิลเลิศ                                   ปลัดเทศบาล                         เหรัญญิก
7. นายสัมฤทธิ์    สีสมุทร                                 นักวิชาการ                         กรรมการ/เลขานุการ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
                1.  ปริมาณขยะในพื้นที่ลดลง
2. เกิดระบบการจัดธนาคารขยะของ บ้านผารังหมี  ที่ดีและมีประสิทธิภาพ
3. สร้างรายได้เสริม และปลูกฝังนิสัยการรักษาสิ่งแวดล้อม ให้กับครัวเรือนในชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการ 
4. ครัวเรือนในชุมชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ  ในสภาวะแวดล้อมของชุมชน  ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชนภายในเทศบาลตำบลไทรย้อยให้สวยงาม น่าอยู่ และถูกสุขอนามัย 
5. นักเรียน เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ มีความรู้เรื่องการคัดแยกขยะที่ถูกต้องเหมาะสม

                                                               
 (ลงชื่อ)                                                       ผู้เสนอโครงการ
                                                                                (นายสมเกียรติ  เกรียงไกรอนันต์)
                                                                                  นายกเทศมนตรีตำบลไทรย้อย

1 ความคิดเห็น: